พิพิธภัณฑ์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เชียงใหม่

  • แม่โจ้ 2477.

อาคารวุฒากาศ

อาคารวุฒากาศ หรือที่ศิษย์เก่าแม่โจ้ เมื่อครั้งยังศึกษา ตั้งแต่ซีรีส์ 2 ซีรีส์ 3 รู้จักกันในนามหอพักวุฒากาศ เป็นอาคารตึกครึ่งไม้ มีพื้นที่ประมาณ 1,863 ตารางเมตร หลังคาทรงปั้นหยา ใช้งบประมาณก่อสร้าง 250,000 บาท โดยตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่พลอากาศเอกหลวงเชิด วุฒากาศ (สุดใจ เชิดวุฒิ) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (11 ธันวาคม พ.ศ. 2494 – 23 มีนาคม พ.ศ. 2495, 28 มีนาคม พ.ศ. 2495 - 26 กุมภาพันธ์พ.ศ. 2500) เคยใช้เป็นหอพัก, อาคารเรียน, ที่ทำการชมรมนักศึกษา, ที่ทำการสำนักงานฝ่ายฝึกอบรม สำนักงานฝ่ายส่งเสริมการเกษตร และสำนักงานฝ่ายวิจัย สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร, มีการปรับปรุงครั้งแรกในปี พ.ศ. 2534 เพื่อใช้เป็นอาคารสำนักงานและต้อนรับของงานกล้วยไม้เอเซียแปซิฟิกครั้งที่ 4 (APOC4) ในเดือนมกราคม 2535 ,วารสารแม่โจ้ปริทัศน์, ศูนย์ประสานงานบัณฑิต ตลอดจนที่ทำการฝ่ายปกครองนักศึกษา เมื่อปี พ.ศ. 2559 ดำเนินการปรับปรุงใหม่ (งบประมาณโครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน) ปัจจุบัน เป็นที่ทำการกองกายภาพและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ข้อมูล: อนุสรณ์ วิจารณ์ปรีชา ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่น 53

Read More


อนุสาวรีย์คุณพระช่วงเกษตรศิลปการ

อนุสาวรีย์คุณพระช่วงเกษตรศิลปการ “บิดาเกษตรแม่โจ้” เริ่มก่อสร้างเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530 แล้วเสร็จเดือนมกราคม พ.ศ. 2531 งบประมาณก่อสร้าง จำนวน 1,019,821 บาท เงินสมทบค่าก่อสร้างจากครอบครัวคุณพระช่วงฯ และศิษย์เก่าแม่โจ้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงกดปุ่มเปิดแพรคลุมรูป อำมาตย์โทพระช่วงเกษตรศิลปการ จากนั้นเสด็จฯ สู่ลานอนุสาวรีย์ฯ ทรงพระสุหร่ายแล้วทรงวางพวงมาลา เมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2532 เวลา 15.00 น.

Read More


อนุสาวรีย์ศาสตราจารย์(พิเศษ) ดร.วิภาต บุญศรี วังซ้าย

การถึงแก่อสัญกรรมของศาสตราจารย์(พิเศษ) ดร.วิภาต บุญศรี วังซ้าย เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2527 นั้น ยังความอาลัยและเสียใจยิ่งแก่บรรดาศิษย์ มิตร ญาติและผู้ที่คุ้นเคยรู้จักท่าน เนื่องจากท่านได้บำเพ็ญประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติบ้านเมืองมาก จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทาน พระบรมราชานุเคราะห์ในการศพในโอกาสพระราชทานเพลิงศพเมื่อวนที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 ณ สุสานแม่โจ้ อย่างมีเกียรติและสมศักดิ์ศรี ท่านได้ปกครองแม่โจ้เป็นระยะเวลายาวนาน ได้ฝ่าฟันอุปสรรคและปัญหาต่าง ๆ คณานับเพื่อมุ้งสร้างสถานศึกษาแม่โจ้ให้เติบโตและแข็งแรง จากเดิมที่มีฐานะเป็นโรงเรียนเกษตรกรรมเล็ก ๆ จนเป็นสถาบันที่สามารถให้การศึกษาได้ถึงขั้นปริญญาสูงสุดทางการเกษตร เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ทั่วไป ท่านเป็นครูที่ประเสริฐ เห็นอกเห็นใจและเข้าใจปัญหาของศิษย์ทั่วไป ความมีน้ำใจและอัธยาศรัยอันดีต่อทุกคนนั้นได้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ในการอยู่ร่วมกับสังคมปัจจุบันอย่างมีเกียรติและสมศักดิ์ศรี ท่านมิเพียงแต่จะให้ความรู้เท่านั้น แต่ได้หล่อหลอมวิญญาณและสปิริตของการต่อสู้งานหนัก การเคารพอาวุโสและความรักในงานเกษตรอีกด้วย ท่านจึงได้รับการยกย่อง สรรเสริญในฐานะปูชนียบุคคล ที่ได้สร้างและพัฒนาสถานศึกษาแม่โจ้สืบต่อมาร่วม 30 ปี เป็นที่รู้จักของบุคคลทั่วไป ในช่วงระหว่างงานพระราชทานเพลิงศพเท่านั้น องค์การนักศึกษาแม่โจ้ และศิษย์เก่าแม่โจ้พบปะหารือร่วมกันหลายครั้งเพื่อพิจารณาจัดสร้างสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ เป็นอนุสาวรีย์ที่เปี่ยมล้นด้วยคุณค่า และความรักท่านให้เป็นที่ประจักและเป็นแบบอย่างแก่คนทุกรุ่นต่อไป ในที่สุดองค์การนักศึกษาแม่โจ้ พ.ศ. 2528 ได้รับเป็นองค์กรกลางในการดำเนินงานร่วมกับศิษย์เก่า แม่โจ้ และท่านที่เคารพนับถือ เพื่อจัดสร้างอนุสาวรีย์รูปเหมือนศาสตราจารย์(พิเศษ) ดร.วิภาต บุญศรี วังซ้าย โครงการฯ (เขียนขึ้นโดย องค์การนักศึกษาแม่โจ้ พ.ศ. 2528) 1. การดำเนินงาน องค์การนักศึกษาแม่โจ้ พ.ศ. 2528 นำโดยจรูญ พุทธจรรยา นายกองค์การนักศึกษา พร้อมด้วยคณะกรรมการ อ.น.ม. และอาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์สวิก เพ็งอ้น 2. สถานที่ตั้งอนุสาวรีย์ กำหนดขึ้นบริเวณใกล้กับอาคารวิภาต บุญศรี วังซ้าย สำหนักหอสมุดหรือสถานที่ที่เหมาะสมกับสถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ 3. ระยะเวลาดำเนินการ การก่อสร้างอนุสาวรีย์ การปรับปรุงบริเวณ และงานอื่น ๆ โดยรอบอนุสาวรีย์ ในโครงการระว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด (คาดว่าน่าจะเป็นปี 2529) 4. ค่าใช้จ่าย ระบุว่าประมาณ 300,000 บาท (สามแสนบาทถ้วน) ทั้งนี้รวมทั้งฐานอนุสาวรีย์ บริเวณโดยรอบและการจดตกแต่งสวนรอบบริเวณอนุสาวรีย์ งบประมาณเริ่มต้นนั้น องค์การนักศึกษา แม่โจ้ ได้รับเงินบริจาคบางส่วน รวมเป็นเงิน 46,765 บาท (สี่หมื่นหกพันเจ็ดร้อยหกสิบห้าบาทถ้วน) โดยระบุว่าถ้ามีคนเหลือจากการสร้างอนุสาวรีย์ครั้งนี้จะได้นำบริจาคสมทบเป็นมูลนิธิของศาสตราจารย์(พิเศษ) ดร.วิภาต บุญศรี วังซ้าย 5. ลักษณะอนุสาวรีย์ 5.1 เป็นอนุสาวรีย์รูปเหมือนในชุดปกติ สายสะพายมหาวชิรมงกุฎ ท่ายืน 5.2 สร้างด้วยโลหะสัมฤทธิ์ 5.3 อนุสาวรีย์ยืนอยู่บนฐานสูงขนาดพองามบนลานอนุสาวรีย์ แวดล้อมด้วยพรรณไม้ชนิดต่าง ๆ ร่มรื่นและหลากสี 5.4 สร้างบนพื้นที่กว้าง เด่นเป็นสง่าบริเวณอาคารวิภาต บุญศรี วังซ้าย ที่ทำการสำนักหอสมุด สถาบันเทคโนโลยีดารเกษตรแม่โจ้ 5.5 เป็นสถานที่บรรจุอัฐส่วนหนึ่งของท่าน เพื่อความศักดิ์สิทธิ์ เป็นสิริมงคลแก่ผู้สักการะ (อัฐดังกล่าวได้รับมอบจากนายเสวียน หอมนาน ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่น 10 ผู้ซึ่งเคารพศาสตราจารย์(พิเศษ) ดร.วิภาต บุญศรี วังซ้าย มากและได้รับอัฐไปเก็บไว้เพื่อเคารพบูชาจำนวนหนึ่งแบ่งมาให้บรรจุภายในอนุสาวรีย์ฯ) ต่อมาภายหลังแบบขแงนุสาวรีย์ถูกเปลี่ยนจากท่ายืนเป็นท่านั่ง อย่างไรก็ดีการดำเนินการก่อสร้างอนุสาวรีย์ฯ ดังกล่าวมีความล่าช้าไม่สามารถดำเนินได้แล้วเสร็จในระยะเวลาที่กำหนด จึงมีการขยายเวลาออกไป และมีพิธีวางศิลาฤกษ์ในวันที่ 12 มีนาคม 2533 จากนั้นอีกสองปีต่อมาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดพิธีอนุสาวรีย์ฯ ในวันที่ 30 ตุลาคม 2535 ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้จึงได้กำหนดให้วันที่ 30 ตุลาคม ของทุกปีเป็น “วันวิภาต บุญศรี วังซ้าย” เพื่อระลึกถึงพระคุณท่านต่อสถานศึกษาและศิษย์ของท่าน

Read More