พิพิธภัณฑ์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เชียงใหม่

  • แม่โจ้ 2477.

พระยาเทพศาสตร์สถิตย์ (โห้ กาฬดิษย์) ผู้ให้กำเนิดวิชา เกษตรกรรม ในประเทศไทย

อาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนักเรียนทุนรุ่นแรกของกระทรวงธรรมการที่ไปศึกษาต่างประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2438 พร้อมกับเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี พระยาเทพศาสตร์สถิตย์ สำเร็จวิชากสิกรรมจากมหาวิทยาลัยเรดดิ้ง ประเทศอังกฤษ์ ในปี พ.ศ. 2439 และได้ผ่านการฝึกงานไร่กับครอบครัวกสิกรคหบดีในอังกฤษเป็นเวลานานก่อนกลับประเทศไทย เคยได้ไปช่วยราชการกรมเพาะปลูก กระทรวงเกษตราธิการ ในปี พ.ศ. 2452 พระยาเทพศาสตร์ฯ ตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมหอวัง ขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ณ บ้านสวนหลวง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบริเวณหอวัง (บริเวณสนามกีฬาแห่งชาติด้าน สี่แยกเจริญผลในปัจจุบัน) พระยาเทพศาสตร์สถิตย์ เป็นอาจารย์ใหญ่ มีครูน้อย 2 คน คือ ครูทองดี เรศานนท์ (หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ) และครูผล สินธุระเวชญ์ (หลวงผลสัมฤทธิ์กสิกรรม) ทั้งสองคนสำเร็จ ป.ม.จากโรงเรียนข้าราชการพลเรือน การศึกษาเกษตรก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี พ.ศ. 2459 เจ้าพระยาธรรมศักดิ์ (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เข้ารับหน้าที่เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ได้เริ่มโครงการศึกษากสิกรรม ผู้ที่ได้รับบัญชาให้ร่างโครงการเสนอคือ พระยาเทพศาสตร์สถิต (โห้ กาฬดิษย์) อาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นนักเรียนทุนรุ่นแรกของกระทรวงธรรมการที่ไปศึกษาต่างประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2438 พร้อมกับเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี พระยาเทพศาสตร์สถิต สำเร็จวิชากสิกรรมจากมหาวิทยาลัยเรดดิ้ง ประเทศอังกฤษ์ ในปี พ.ศ. 2439 และได้ผ่านการฝึกงานไร่กับครอบครัวกสิกรคหบดีในอังกฤษเป็นเวลานานก่อนกลับประเทศไทย เคยได้ไปช่วยราชการกรมเพาะปลูกกระทรวงเกษตราธิการในปี พ.ศ. 2452 ครั้งหนึ่ง ต่อมาได้กลับไปเป็นอาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนสังกัดกระทรวงธรรมการ ได้เป็นข้าหลวงเกษตรมณฑลภูเก็ต และเลขานุการกรมทดน้ำ นับว่าเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการเกษตรทั้งนอกและในประเทศเป็นอย่างดี โครงการศึกษากสิกรรมที่พระยาเทพศาสตร์สถิตร่างขึ้นนี้ เสนอให้จัดการศึกษาเกษตรตามแนวทางของสหรัฐอเมริกาที่จัดทำอยู่ในประเทศฟิลิปปินส์คือ สอนให้ทำ “สวนโรงเรียน” เป็นการสาธิตวิชาการเกษตรแผนใหม่ก่อน แล้วจึงขยายให้นักเรียนทำ “สวนบ้าน” ในภายหลัง เป็นการให้นักเรียนได้ลงมือ ลงทุนทำการเกษตรตั้งแต่ก่อนการสำเร็จการศึกษา ในปี พ.ศ. 2460 เจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯ แบ่งเงินจากการศึกษาสามัณส่วนหนึ่งมาให้พระยาเทพศาสตร์ฯ ตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมหอวังขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ณ บ้านวนหลวง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งขอบริเวณหอวัง (บริเวณสนามกีฬาแห่งชาติ ด้านสี่แยกเจริญผลในปัจจุบัน) พระยาเทพศาสตร์สถิต เป็นอาจารย์ใหญ่ มีครูน้อย 2 คน คือ ครูทองดี เรศานนท์ (หลวงสุวรรณาจกกสิกิจ) และครูผล สินธุระเวชญ์ (หลวงผลสัมฤทธิ์กสิ กรรม) ทั้งสองคนสำเร็จ ป.ม.จาก โรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ในปี พ.ศ. 2461 ได้ย้ายโรงเรียนไปตั้งที่ตำบลพระประโทน อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ที่ตั้งฌรงเรียนเป็นป่าไผ่และดงสะแก อยู่ข้างวัดพระประโทน ในปี พ.ศ. 2467 ได้ย้ายโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมไปตั้งที่ตำบลบางสะพานใหญ่ อำเภอบางสะพานใหญ่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในปี พ.ศ. 2468 ได้ขยายกิจการตั้งแผนฝึกหัดครูมูลกสิกรรม และแผนกมัธยมวิสามัญเกษตรกรรม โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมบางสะพานใหญ่ เจริญรุ่งเรืองมาก มีอาจารย์สำเร็ขวิชาการเกษตรระดับปริญญาตรี และโท จากเมริกา อังกฤษ และฟิลิปปินส์ ถึง 6 คน พระยาเทพศาสตร์สถิตย์ (โห้ กาฬดิษย์) หลวงชุณหกสิการ (ชุ้น อ่องระเบียบ) หลวงอิงค์ศรีกสิกร (อินทรีย์ จันทรสถิตย์) พระช่วงเกษตรศิลปะการ (ช่วง โลจายะ) หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ (ทองดี เรศานนท์) หลวงผลสัมฤทธิ์กสิกรรม (ผล สินธุระเวชญ์) นอกจากนี้ยังมีแหล่งวิชาการเกษตรใหญ่ คือ ฟาร์มบางเบิด ของ ม.จ.สิทธิพร กฤดากร พระบิดาของการเกษตรแผนใหม่อยู่ไม่ไกลนัก ในปี พ.ศ. 2469 ต้องย้ายโรงเรียนเป็นครั้งที่ 3 ไปตั้งที่ตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ส่วนที่บางสะพานใหญ่ต้องปิดตัวลงในปี พ.ศ. 2471 ต่อมานโยบายการศึกษาเกษตรมีการเปลี่ยนแปลง ขาดผู้สนับสนุนระดับเสนาบดี มีการย้ายอาจารย์เข้ากรุงเทพฯ 4 คน พระยาเทพศาสตร์ฯ อาจารย์ใหญ่ถึงอนิจกรรมในปี พ.ศ. 2472 เป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ โครการศึกษากสิกรรม หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ เป็นอาจารย์ใหญ่สืบแทนจนถึงปี พ.ศ. 2474 ในปลายปี พ.ศ. 2474 ม.จ.สิทธิพร กฤดากร ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นอธิบดีกรมตรวจกสิกรรม เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ได้กลับมาเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการอีกครั้งหนึ่ง จึงมีการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด (1) หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ได้รับมอบหมายให้ไปเริ่มงานที่สถานีทดลองกสิกรรมภาคใต้ และโรงเรียนฝึกหัดครูมูลกสิกรรมที่ตำบลควนเนียง จังหวัดสงขลา (2) หลวงอิงคศรีกสิกรม ทางกระทรวงธรรมการ ได้ย้ายไปเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมที่ย้ายจากทับกวางไปอยู่ที่สถานีทดลองกสิกรรมภาคอิสาน ที่ตำบลโนนสูง อำเภอโนนวัด จังหวัดนครราชสีมา ในต้นปี 2475 การศึกษาเกษตรหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี พ.ศ. 2476 การศึกษาเกษตรและการวิจัยยังมีการร่วมมือกันอย่างดีระหว่างกระทรวงธรรมการและกระทรวงเกษตราธิการ มีการจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมขึ้นที่ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ให้ย้ายสถานีทดลองกสิกรรมภาคใต้ไปรวมอยู่ที่คอหงส์ กรมตรวจกสิกรรม ได้ขอตัวพระช่วงเกษตรศิลปะการ จากกระทรวงกลาโหม ให้ไปบุกเลิกงานสถานีกสิกรรมภาคพายัพที่บ้านแม่โจ้ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2477 กระทรวงธรรมการ ได้จัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมแห่งที่สามขึ้นที่แม่โจ้ คู่กับสถานีทดลองกสิกรรมภาคพายัพ การบริหารงานของสถานีทดลองกสิกรรมทั้ง 3 ภาค และโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม ในระยะนี้เป็นตัวอย่างอันดีของการร่วมมือระหว่างกระทรวงเพราะหัวหน้าสถานีทดลอง และอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนแต่ละแห่ง คือคนคนเดียวกัน แต่สามารถบริหารงานข้ามสังกัดได้ และมีการใช้บุคคลร่วมกัน ผู้บริหารทั้ง 3 ท่าน นี้ ซึ่งต่อมาได้เป็นบุคคลที่มีความสำคัญต่อการเกษตรของประเทศเป็นอย่างมากคือ หลวงอิงคศรีกสิการ สังกัดกระทรวงธรรมการ เป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมโนนวัด และหัวหน้าสถานีทดลองกสิกรรมภาคอิสาน หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ สังกัดกระทรวงธรรมการ เป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม คอหงส์ และหัวหน้าสถานีทดลองกสิกรรมภาคใต้ พระช่วงเกษตรศิลปการ สังกัดทบวงเกษตราธิการ กระทรวงเศรษฐการ หัวหน้าสถานีทดลองกสิกรรมภาคพายัพ และ เป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมแม่โจ้ นอกจากนี้ กรมตรวจกสิกรรมยังมอบหมายให้โรงเรียนประถมวิสามัญกสิกรรม รวม 12 แห่ง เป็น กิ่งสถานีทดลองกสิกรรมของกระทรวงเกษตราธิการด้วย เป็นที่น่าเสียดายว่า ความร่วมมืออันดีระหว่างกระทรวงธรรมการและกระทรวงเกษตราธิการนี้อยู่คงได้เพียง 3 ปีเท่านั้น เมื่อเจ้าพระยาธรรมศักดิ์พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี และ ม.จ.สิทธิพร กฤดากร พ้นจากตำแหน่งอธิบดีกรมตรวจกสิกรรม เพราะมรสุมทางการเมืองแล้ว นโยบายการศึกษาเกษตรก็ได้เปลี่ยนแปลงไป (เรียบเรียงจาก วิวัฒนาการของการศึกษาเกษตรในประเทศไทย กวี จุตติกุล คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หน้า 43-46 หนังสือ อนุสรณ์แม่โจ้ 50 ปี 02477-2527 ธนิต มะลิสุวรรณ บรรณาธิการ). เรียบเรียงสำหรับรายการ แม่โจ้เมื่อวันวาน ตำนานาแม่โจ้ ตอนที่ 1 สงวน จันทร์ทะเล 3 พฤษภาคม 2549

Read More


บิดาแห่งการเกษตรแม่โจ้ พระช่วงเกษตรศิลปการ

ชีวประวัติ อำมาตย์โท ดร.พระช่วงเกษตรศิลปการ (ช่วง โลจายะ) ขอเทิดพระคุณและบูชาบูรพาจารย์ อำมาตย์โท ดร.พระช่วงเกษตรศิลปการ (ช่วง โลจายะ) บิดาเกษตรแม่โจ้ ผู้บุกเบิกงานหนักเพื่อสร้างแม่โจ้ให้เป็นแหล่งความรู้ทางการเกษตรของประเทศไทย อำมาตย์โท พระช่วงเกษตรศิลปการ (ช่วง โลจายะ) เกิดเมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๔๒ ปีกุน รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๘ ณ บ้านแข่ ตำบลพระประแดง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เป็นบุตรคนเล็กในจำนวนพี่น้องสองคนของร้อยเอก หลวงศรีพลแผ้ว ร.น. (ขาว โลจายะ) กับนางทองหยด โลจายะ การศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนวัดทรงธรรม อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ และระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมัธยมวัดสุทัศน์ วัดราษฎร์บูรณะ และโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ตามลำดับ ระหว่างเรียนที่สวนกุหลาบในชั้นมัธยม ๗ และ ๘ นั้น นับเป็นนักเรียนที่เรียนเก่ง โดยได้คะแนน เป็นลำดับที่ ๑ ของชั้น ได้นั่งโต๊ะเรียนพระราชทานของพระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๖ มาโดยตลอด ได้รับทุนรัฐบาลไทยไปศึกษาต่อระดับปริญญาตรี ที่มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ (University of the Philippines at Los Banos) จนจบชั้นปีที่ ๓ จากนั้นรัฐบาลไทยได้ส่งตัวไปศึกษาต่อจนจบปริญญาตรีและโท ทางสัตวศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิล (University of Wisconsin) สหปาลีรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๗ นับเป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทด้านการเกษตรจากต่างประเทศคนที่ ๒ ของประเทศไทย เมื่อเดินทางกลับประเทศไทย ได้รับราชการในกระทรวงธรรมการ และกระทรวงกลาโหมตามลำดับ จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๖ หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร อธิบดีกรมตรวจกสิกรรม ได้ขอตัว พระช่วงเกษตรศิลปการ จากกระทรวงกลาโหม เพื่อไปบุกเบิกงานสถานีทดลองกสิกรรมภาคพายัพ บ้านแม่โจ้ เชียงใหม่ และในปี พ.ศ.๒๔๗๗ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ได้จัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมแม่โจ้ เพื่อให้ทำงานควบคู่กัน กับโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม ซึ่งเป็นการศึกษาเกษตรระดับสูง ที่จัดโดยกระทรวงธรรมการ ซึ่งดำเนินการที่แม่โจ้อยู่เพียงแห่งเดียวในเวลานั้นจนถึงปี พ.ศ.๒๔๘๑ จึงยุบเลิก แต่ให้จัดหลักสูตรมัธยมวิสามัญเกษตรกรรมขึ้นแทนตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๘ หลังการยุบเลิกหลักสูตรครูประถมกสิกรรมทุกแห่งและถูกโอนไปสังกัดกระทรวงเกษตราธิการแล้ว จึงได้ตั้งเป็นวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แม่โจ้ หลักสูตร ๓ ปี ระดับอนุปริญญา ในปี พ.ศ.๒๔๘๑ พระช่วงเกษตรศิลปการ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นอธิบดีกรมเกษตร รวมเวลา ที่ท่านอยู่สร้างแม่โจ้ ๖ ปี คือ พ.ศ.๒๔๗๖-๒๔๘๑ หลังจากดำรงตำแหน่งต่างๆ ทางราชการตั้งแต่อธิบดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ และเป็นทูตวัฒนธรรมและผู้ดูแลนักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกาเป็นตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณอายุราชการเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๒ พ.ศ.๒๕๑๐ พระช่วงเกษตรศิลปการ กลับมาเยี่ยมแม่โจ้ เพื่อพบปะนักศึกษา ครู อาจารย์ และศิษย์เก่า ท่านได้ให้โอวาทสำคัญความตอนหนึ่งว่า “สถานศึกษาแม่โจ้แห่งนี้จะเจริญเติบโต ก้าวหน้าได้อย่างมั่นคงนั้นจะต้องประกอบด้วย มีครูดี นักศึกษาดี และมีศิษย์เก่าดี ที่จะช่วยพยุงค้ำชูให้มั่นคงแข็งแรงต่อไป” พระช่วงเกษตรศิลปการ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกสภาสถาบันเทคโนโลยีการเกษตร ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๑๘-๒๕๒๒ และได้รับพระราชทานปริญญาเทคโนโลยีการเกษตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพืชศาสตร์ เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕ ท่านมีภริยา คือ คุณหญิงช่วงเกษตรศิลปการ (สำอางค์ ไรวา) มีบุตรและธิดารวม ๖ คน อำมาตย์โท ดร.พระช่วงเกษตรศิลปการ ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๑ สิริอายุ ๘๘ ปี ๕ เดือน ๒๑ วัน เราเหล่าชาวแม่โจ้ ขอเทิดพระคุณและบูชาบูรพาจารย์ผู้เป็นปูชนียบุคคล ตราบชั่วนิรันด์กาล

Read More


ชีวประวัติ (ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.วิภาต บุญศรี วังซ้าย)

ขอเทิดพระคุณและบูชาบุรพาจารย์ผู้เป็นปูชนียบุคคล ศาสตราจารย์ ดร. วิภาต บุญศรี วังซ้าย ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่น ๑ อดีตอาจารย์ใหญ่ ผู้อำนวยการ อธิการบดี “แม่โจ้” พ.ศ.๒๔๙๗-๒๕๒๖ เจ้าของวลี “งานหนักไม่เคยฆ่าคน” ศาสตราจารย์ ดร.วิภาต บุญศรี วังซ้าย เกิดเมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๕๙ ณ บ้านสันกลาง ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ เป็นบุตรคนที่ ๗ ของนายบุญมา กับนางบัวเกี๋ยง วังซ้าย เริ่มต้นการศึกษาระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดหลวง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ ๖ ที่โรงเรียนพิริยาลัย จังหวัดแพร่ จากนั้นย้ายมาศึกษาต่อที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๖ เรียนอยู่ได้ปีเดียวเมื่อมีการจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมประจำภาคเหนือขึ้นที่บ้านแม่โจ้ เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๗ ท่านจึงย้ายเข้ามาเรียนเป็นรุ่นแรก รุ่นบุกเบิกของแม่โจ้ หลังจากจบการศึกษาจากแม่โจ้ เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๘ เข้าบรรจุทำงานเป็นพนักงานยางที่หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา หนึ่งปีต่อมาสามารถสอบชิงทุนหลวงไปศึกษาต่อระดับปริญญาตรีสาขาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติฟิลิปปินส์ เมืองลอสบันโยส (UPLB) หลังจากเข้ารับราชการแล้ว ในปี พ.ศ.๒๕๐๒ เดินทางไปศึกษาและสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทด้านการเกษตร ณ มหาวิทยาลัยโอกลาโฮม่า ประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงปี ๒๔๘๔ หลังจากสำเร็จการศึกษาจากฟิลิปปินส์ ท่านกลับมาเป็นอาจารย์ที่แม่โจ้ตำแหน่งอาจารย์ผู้ปกครอง ก่อนลาออกไปสมัครแข่งขันเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่ ในปี พ.ศ.๒๔๘๙ ประสบความสำเร็จเป็นนักการเมืองหนุ่มที่มีอนาคตไกล และได้รับทาบทามให้ดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคกสิกร อย่างไรก็ตามมรสุมทางการเมืองทำให้เกิดยุบสภาผู้แทนราษฎรในปี พ.ศ.๒๔๙๑ เมื่อสมัครลงเลือกตั้งใหม่ไม่ประสบความสำเร็จ ท่านจึงอำลาชีวิตนักการเมืองไปเป็นเกษตรกรทำไร่ สวนผักส่วนตัวที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมาตลอด ๘ ปีเต็ม พ.ศ.๒๔๘๗ หลวงปราโมทย์ จรรยาวิภาต อธิบดีกรมอาชีวศึกษา ได้ขอร้องให้ท่านไปช่วยพัฒนาการศึกษาเพราะยังขาดผู้บริหารโรงเรียนเกษตรกรรมแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ท่านจึงกลับเข้ารับราชการอีกครั้งในตำแหน่งข้าราชการชั้นเอกเทียบเท่าผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้พัฒนาการศึกษาโรงเรียนเกษตรกรรมแม่โจ้ จนมีความก้าวหน้าและยอมรับอย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นท่านได้รับการแต่งตั้งเป็น ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรกรรมเชียงใหม่ และดำรงตำแหน่งอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีการเกษตร แม่โจ้ ๒ สมัย และท่านเป็นเจ้าของคำสอนให้กับนักเรียนนักศึกษาให้อดทนและสู้งาน จนเป็นวลีอมตะว่า “งานหนักไม่เคยฆ่าคน” นอกจากด้านการพัฒนาการศึกษาจากโรงเรียนจนได้รับยกฐานะเป็นวิทยาลัย และสถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ระดับอุดมศึกษาแล้ว ท่านเป็นผู้จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์โดยได้รับใช้สนองเบื้องพระยุคลบาทด้านการเกษตรอย่างใกล้ชิดแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งยังได้สร้างผลงานและโครงการสำคัญๆ ที่มีคุณค่าและประโยชน์ยิ่งต่อประชาชน สังคมและประเทศชาติหลายด้าน อาทิ การอบรมวิชาชีพด้านการเกษตรต่างๆ ตามโครงการพัฒนาอาชีพชาวไทยภูเขาแก่นายตำรวจตระเวนชายแดน และชาวเขาเผ่าต่างๆ ในเขตพื้นที่ภาคเหนือตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๔-๒๕๑๔ ถวายงานตามพระราชประสงค์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๖ ได้แก่ การนำนักศึกษาพัฒนาสร้างสวนดอกไม้และสวนผักเมืองหนาว ตลอดจนปลูกต้นไม้ใหญ่บริเวณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ และตามเสด็จเพื่อถวายงานด้านการเกษตรทุกครั้งที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จโดยเฮลิคอปเตอร์ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วภาคเหนือ ร่วมกับคณาจารย์ที่สำเร็จศึกษาจากสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งองค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งแห่งประเทศไทย หน่วยแม่โจ้ เป็นหน่วยแรกของประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๐ ร่วมกับองค์การ SEARCA ประเทศฟิลิปปินส์ จัดตั้งศูนย์พัฒนาชนบทขึ้นที่หมู่บ้านโปง อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมจัดตั้งโครงการหลวงเกษตรภาคเหนือกับหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นอกจากนี้ยังมีโครงการเพื่อพัฒนาสังคมไทยในนามของแม่โจ้ ร่วมกับกองทัพภาคที่ ๓ องค์กรภาครัฐ เอกชน มากกว่า ๑๐๐ โครงการ และเกษียณอายุราชการหลังจากหมดวาระการดำรงตำแหน่งอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ สมัยที่ ๒ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๖ ขณะนั้นอายุ ๖๗ ปี ชีวิตครอบครัว ท่านสมรสกับนางสมจินต์ วังซ้าย (สกุลเดิม ตุงคพลิน) มีบุตรและธิดารวม ๔ คน ศาสตราจารย์ ดร. วิภาต บุญศรี วังซ้าย ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๗ สิริอายุ ๖๘ ปี ขอเทิดพระคุณและบูชาบุรพาจารย์ผู้เป็นปูชนียบุคคล ศาสตราจารย์ ดร. วิภาต บุญศรี วังซ้าย ผู้สืบสานและพัฒนางานหนักเพื่อสร้างแม่โจ้ ให้เป็นแหล่งความรู้ทางการเกษตรชั้นนำของประเทศไทย



ศาสตราจารย์ ดร.พนม สมิตานนท์

ที่เกิด ตำบลสวนมะลิ อำเภอป้อมปราบศัตรูพ่าย จังหวัดพระนคร เมื่อ วันศุกร์ แรม 3 ค่ำ เดือน 4 ปีจอ เวลา 21.00 น. ตรงกับวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2453 นามบิดา พันโท พระจงสรวิทย์ (เพี้ยน สมิตานนท์) นามมารดา น้อม (สกุลเดิม แท่งทอง) นามภริยา บุญมี (สกุลเดิม อรุณสิทธิ์) สมรส วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2480 มีบุตรธิดา 6 คน การศึกษา สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 จาก โรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์ พ.ศ. 2471 -ได้รับปริญญาตรีทางเกษตรศาสตร์ จาก ลอสบบันโยส มหาวิทยาลัยแห่งประเทศฟิลิปปินส์ Bachelor of Science in Agriculture (B.S.A) University of the Philippines, (Los Banos) พ.ศ. 2477 -ได้รับปริญญาโท Master of Science (M.S.) Cornell University พ.ศ.2501 -ได้รับปริญญาเอก Doctor of Education (E.d.D.) Cornell University พ.ศ. 2503 การงาน พ.ศ. 2477 บรรจุเป็นอาจารย์กรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการ วันที่ 11 มกราคม 2477 พ.ศ. 2478 อาจารย์โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมแม่โจ้ เชียงใหม่ ต่อมาดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วย ผู้อำนวยการ ผู้อำนวยการ เป็นอาจารย์ผู้ปกครอง-นักฟุตบอล นักวิชาการเกษตร ก่อตั้ง สมาคมนักเรียนเก่าแม่โจ้ ในปี พ.ศ. 2490 ย้ายไปประจำกรมศึกษาธิการในปี พ.ศ. 2495 รวมเป็นเวลาที่เป็นอาจารย์ที่แม่โจ้ 17 ปี พ.ศ. 2497 เป็นอาจารย์เอก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2500 เป็นศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2512 ลาออกจากราชการ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม เพราะรับราชการนาน และไปเป็นผู้อำนวยการและ ผู้ชำนาญการ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย เสียชีวิต วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2522 รวมอายุ 71 ปี ศาสตราจารย์พิเศษอินทรีย์ จันทรสถิตย์ ได้กล่าวถึงศาสตราจราย์พนมไว้ว่า.. “ศาสตราจารย์พนม ได้นำเอากิจกรรมหลายอย่างเข้ามาใช้ในแม่โจ้ เพื่อให้ลูกแม่โจ้ได้มีจิตใจผูกแน่นซึ่งกันและกัน เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาและปรับปรุงตนเองให้เป็นนักศึกษาที่ดี อดทนต่อการงานและฝึกตนเองให้เหมาะสมกับการที่จะออกไปต่อสู่กับโลกภายหน้าได้เป็นอย่างดี ผู้จบวิชาเกษตรจากแม่โจ้ จะสมัครเข้าทำงานที่ใด ผู้จะจ้างก็แบมือรับเพราะเห็นว่าลูกแม่โจ้ทำจริง ไม่หยิบโหย่ง ทำให้การงานของผู้จ้างดำเนินไปโดยดี” คุณปราณี แจ้งเจนกิจ แม่โจ้ รุ่น 7 กล่าวถึง ศาสตราจารย์พนมไว้ว่า “ศาสตราจารย์พนม สมิตานนท์ มีคุณลักษณะสมเป็นผู้นำในด้านกีฬา ดนตรี การศึกษา และมีเมตตากรุณาต่อศิษย์โดยไม่เลือกหน้า ขยันขันแข็งในหน้าที่การงาน มีระเบียบวินัย และมนุษย์สัมพันธ์เป็นเลิศ ท่านได้ตั้งทีมฟุตบอลที่แข็งแกร่งของเชียงใหม่ขึ้น จนต้องส่งทีมจากกรุงเทพฯ ไปแข่งขันด้วย ท่านเล่นจริงจังในเกมกีฬาเสมอ นอกจากฟุตบอล ท่านได้ตั้งทีมรักบี้ขึ้นด้วยและได้ตั้งทีมวอลย์บอล เทเบิลเทนนิส ยูโด ตะกร้อ สรุปแล้วในเรืองกีฬาท่านสนับสนุนอย่างเต็มที่ แม้แต่การแข่งขันกีฬาภายใน ท่านก็เชิญข้าหลวงจากเชียงใหม่มาทำพิธีเปิดงานด้วย” พลตำรวจโท เลื่อน ปัณฑรนนทกะ (อดีตผู้บังคับหมวดสถานีตำรวจภูธร อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่) กล่าวถึงศาสตราจราย์พนม ไว้ว่า. “สาเหตุที่รู้จักนั้น เพราะ แต่ละคราวที่มีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างโรงเรียนที่สนามโรงเรียนยุพราชนั้น ข้าพเจ้าเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความสงบ โดยปกติถ้าทีมฟุตบอลโรงเรียนแม่โจ้ไม่ได้ลงแข่งขัน เหตุการณ์จะไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ถ้าแม่โจ้ลงแข่งขันคนดูฟุตบอลที่มาเชียร์แม่โจ้และทีมคู่แขงขัน จะเกิดการโห่ร้องและรวนกันไปมา แล้วก็หมัดมวยวุ่นก้นไปทั้งสนาม สาเหตุที่เป็นดังนี้เพราะทีมแม่โจ้เป็นทีมแข็งแกร่ง ไม่ค่อยแพ้ใคร ทีมที่มาลงแข่งขันด้วยพยายามเอาชนะให้ได้ แม่โจ้หรือจะยอม การเล่นจึงมักรุนแรง ผู้ดูก็เลยรุนแรงกันไปด้วย วิธีป้องกันต้องอาศัยอาจารย์ของแต่ละโรงเรียน ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงรู้จักอาจารย์จากโรงเรียนต่าง ๆ หลายท่าน แต่ที่ประทับใจจริง ๆ คือ ท่านศาสตราจารย์ ดร.พนม สมิตานนท์ ซึ่งในขณะนั้นท่านคงเป็นอาจารย์เท่านั้น” นาวาโทรบำรุง สรัคคานนท์ ร.น. กล่าวไว้ว่า “ผมยังจดจำติดตาตรึงใจอยู่จนบัดนี้ ถึงภาพเหตุการณ์วันที่ท่านจะออกเดินทางจากสถานีรถไฟเชียงใหม่ ในปี .ศ. 2494 เพื่อเตรียมตัวเดินทางไปดูงาน ณ สหรัฐอเมริกา ภาพที่จารึกอยู่ในความทรงจำของผมในวันนั้นก็คือ ภาพที่นักเรียนเกษตรกรรมแม่โจ้และครูอาจารย์ต่างพากันร่วมร้องเพลงแม่โจ้ ด้วยเสียงอันก้องกังวาน ท่ามกลางญาติสนิทมิตรสหายรวมทั้งเพื่อนข้าราชการ ที่พากันไปชุมนุมส่งอย่างหนาแน่นจนแทบล้นบริเวณชานชาลาสถานี ยังความตื้นตันปิติแก่ผู้ได้ยินได้ฟังทั่วทุกคน แสดงถึงความรักความห่วงใยที่เขาเหล่านั้นมีต่ออาจารย์ใหญ่ของเขาอย่างเหลือล้น ซึ่งผมเองยังไม่เคยได้ประสบพบเห็นจากที่ใดมาก่อน...” ------------- เรียบเรียงจาก/หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ ดร.พนม สมิตานนท์ 13 ตุลาคม 2522 สงวน จันทร์ทะเล 1 กรกฎาคม 2549 “แม่.....โจ้” เพลงชาติแม่โจ้ โดย ปราโมทย์ บัวชาติ รุ่น 2 คุณไสว บุณยปรัดยุษ (แม่โจ้ รุ่น 2 พ.ศ. 2478) นักเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรม รุ่น 1 ผู้ประพันธ์เพลงนี้ทั้งเนื้อร้องและทำนอง ได้เกิดจินตนาการแต่งเพลงนี้ขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2488 ในคืนวันขึ้น 15 ค่ำ (ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม 2478/ผู้เรียบเรียง) ธรรมชาติรอบข้างปลุกความรู้สึกของคุณไสวให้หายง่วง และเกิดอารมณ์อ่อนไหวไปกับธรรมชาติ คุณไสวครวญเพลง Love Song the Nile และคิดคำนึงอยู่หลายเที่ยว เพลงนี้เป็นเพลงทที่มีลีลาโหยหวนเร้าใจ น่าจำนมาเป็นทำนองเพลงเชียร์ของโรงเรียนได้ จึงคิดสรรหาเนื้อเพลงเข้าประกอบทำนอง คิดฮัมเพลงอยู่พักใหญ่ก็ได้เนื้อเพลงที่พอดีกับทำนอง ในบรรยากาศของเสียงธรรมชาติรอบข้าง กลิ่นหอมของดอกไม้ และแสงสกาวของแสงจันทร์ในคือเดือนเพ็ญ เนื้อเพลงทิ่ดได้มีดังนี้ “แม่....โจ้ ไชโยพวกเรา ใหม่....เก่า พวกเราไชย ช่วยกันโห่ เพื่อแม่โจ้ของเรา” เท่านี้ยังไม่พอเนื้อเพลงสั้นไป วันต่อมาจึงคิดหาเนื้อและทำนองเพิ่มเติมเข้าไป คุณไสว เป็นนักเรียนเก่าโรงเรียนอำนวยศิลป์มาก่อน จึงนำเพลงเชียร์ของโรงเรียนอำนวยศิลป์บางตอน มาดัดแปลงให้เหมาะสมกับแม่โจ้ ได้เนื้อเพลงใหม่ดังนี้ “คณะเราไม่ยอมให้ด้อยถอยลง ต่ำเราต้องค้ำชูให้สูงจรุงศรี เขียว ขาว เหลือง อยู่ที่ใด ชัยต้องมี เขียว ขาว เหลือง สามสีนี้ คือดวงใจ เชื่อเถิด เชื่อเถิด เราไม่ให้ต่ำลง เชื่อเถิด เชื่อเถิด เราก้าวหน้าตรงไป จรรยา วิชา และกีฬาใด ๆ เราต้องประคองเอาไว้ระดับที่ดี” * คุณปราโมทย์ บัวชาติ รุ่น 2 ศิษย์เก่าดีเด่น ประจำปี 2538 * เป็นศิษย์เก่า คนเด่น หนึ่ง ใน “คนเด่น 70 ปี แม่โจ้” นักส่งเสริมเกษตรและนักเขียนผู้ปิดทองหลังพระเพื่อหประวัติศาสตร์งานเกษตร ใช้ทำนองเพลงเชียร์ของโรงเรียนอำนวยศิลป์ในส่วนที่คิดได้ใหม่นี้ และใช้เนื้อทำนองที่คิดได้ครังแรกเป็นตอนต้นเสียงและร้องนำ ส่วนที่คิดได้ตอนหลีงใช้เป็นเนื้องร้องของลูกคู่ คุณไสวได้นำเพลงนี้ไปเสนอแก่นักเรียนฝึกหัดครูรุ่นพี่ ปีที่ 2 (รุ่น 1/ผู้เรียบเรียง) ซึ่งทุกคนก็เห็นดีด้วย ได้นำเสนอไปยังอาจารย์ใหญ่ คุณพระช่วงเกษตรศิลปะการ (ซึ่งท่านชอบดนตรีอยู่ก่อนแล้ว/ผู้เรียงร) ท่าน มีความเห็นว่า เหมาะสมดี ใช้ได้ เพลงนี้จึงได้ถูกนำเสนอต่อที่ประชุมนักเรียนในเวลาต่อมา คุณแผ่พืช เทพหันสดิน ณ อยุธยา (รุ่น 2/ผู้เรียบเรียง) เป็นต้นเสียง เมื่อนักเรียนส่วนใหญ่รับรองเห็นชอบแล้ว ก็เริ่มฝึกซ้อมจนร้องงกันได้ทั่วกัน ต่อมา ได้นำไปร้องเชียร์ในการแข่งขันกีฬา ทั้งในกีฬานักเรียนและกีฬาประชาขน ในโอกาสต่าง ๆ ตลอดมา ลูกแม่โจ้รุ่นน้อง ๆ ได้ยกย่องให้เกียรติ “เพลงแม่โจ้” เป็นเพลงสำคัญประจำโรงเรียน ในงานพิธีสำคัญ ๆ และมีเกียรติ ทั้งทีทเป็นพิธีการของโรงเรียน หรืองานพิธีที่นักเรียนจัดขึ้นตามโอกาสและสถานที่ต่าง ๆ เพลงนี้จะถูกอัญเชิญมาร้อง แล้วลูกแม่โจ้ทุกรุ่น ทุกวัย จะร่วมกันร้องด้วยความพร้อมเพรียง ด้วยความเคารพและภาคภูมิใจ “จริงสิ.. ถึงแม้ผมจะออกจากโรงเรียนมานานหลายปีแล้วก็ตาม ผมก็เห็นชอบด้วยกับความดำริของน้อง ๆ เป็นอย่างยิ่ง เพราะอาจเป็นได้ว่า เพลงนี้เป็นเพลงแรกของ แม่โจ้ และเป็นเพลงเดียวที่ได้รับความนิยมจากลูกแม่โจ้ทุกรุ่น ทุกคนร้องได้แม่นยำ ไม่หลงลืม จึงนับเป็นเพลงอมตะของแม่โจ้อย่างแท้จริง ซึ่งเราลูกแม่โจ้ทุกคนเชื่อและหวังว่า เพลงนี้จะยังคงยืนอยู่คู่แม่โจ้ของเรา ตลอดไปจนชั่วกาลนาน” เรียบเรียงจาก “ความเป็นมาของเพลงแม่โจ้” โดยปราโมทย์ บัวชาติ รุ่น 2 หนังสือเกษตร-แม่โจ้ ที่ระลึกเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเกิดครบรอบปีที่ 82 อำมาตย์โท พระช่วงเกษตรศิลปะการ (ช่วง โลจายะ) 20 กรกฎาคม 2524 นำเรื่องเพลงชาติแม่โจ้ และสระเกษตรสนานมาลง เพื่อให้พวกเราได้ระลึกถึงวันเก่าที่ผ่านมา หลายคนไม่มีโอกาสไปเห็นสระเกษตรสนานอีกครั้ง ตั้งแต่วันคลอดเป็นลูกแม่โจ้ หลายคนนึกสภาพไม่ออกแล้วว่า สระเกษตรสนานเป็นอย่างไร หลายคน หลายปีแล้วไม่เคยร่วมร้องเพลงชาติ กับพี่น้องลุกแม่โจ้เลย...... *** สระเกษตรสนาน งานฤดูหนาวจังหวัดเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2478 นั้น งานเริ่มตั้งแต่ 30 ธันวาคม 2478 ถึงวันที่ 5กมกราคม 2479 ทางสถานีทดลองกสิกรรมภาคพายัพแม่โจ้ และโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมแม่โจ้ก็ได้จัดนิทรรศการแสดงกิจกรรมการเกษตรด้วยโดยใช้อาคาร “เรือนเพชร” โรงเรียนยุพราชวิทยาลัยเป็นที่จัดแสดง เป็นครั้งแรกที่มีการออกร้านนิทรรศการของหน่วยงานราชการจากส่วนกลางไปร่วมงานฤดูหนาวเชียงใหม่ วันที่ 18 ธันวาคม 2478 อาจารย์ใหญ่ คุณพระช่วงฯ ได้หารือกับนักเรียนทั้งหมด 300 คนเศษ ในวันปิดภาคเรียนเทอมกลาง ถึงการรวมพลังความสามัคคีช่วยกันขุดสระเป็นอนุสรณ์และพัฒนาพื้นที่ในโรงเรียน โดยร่วมมือกันขุดสระกว้าง 30 เมตร ยาว 60 เมตร ความลึกบริเวณหอกระโดด 3 เมตร ที่เหลือลึก 2 เมตร วันที่ 20 ธันวาคม 2478 แบ่งงานขุดเป็นกลุ่ม ๆ ทำการรังวัดแบ่งเขตรับผิดชอบและทุกคนต้องขุดให้เสร็จตามที่รับมอบงานไป ขุดเสร็จแล้วจึงจะไปเที่ยวงานฤดูหนาวได้ วันที่ 22 ธันวาคม 2478 ทุกคนเริ่มลงมือขุด และยึดถือคำสอนของอาจารย์ใหญ่ คุณพระช่วงฯ “จงทำงานให้เหมือนเล่น แต่อย่าทำงานเป็นเล่น” ทุกคนทำงานด้วยความตั้งใจเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงไปตามที่วางแผนไว้ ทำงานด้วยใจมุ่งมั่นให้งานสำเร็จ วันที่ 29 ธันวาคม 2478 งานสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ อาจารย์ใหญ่สั่งให้ระบายน้ำเข้าสระได้ตั้งแต่ตอนเช้า และน้ำเต็มสระเมื่อเวลา 15.00 น. ที่ประชุมตกลงให้เรียกชื่อสระตามคำเสนอของ คุณละมัย เพศยนิกร (ร่น 1) ว่า “เกษตรสนาน” อาจารย์ใหญ่ คุณพระช่วงฯได้กล่าวแก่พวกเราในวันนั้นว่า ท่านดีใจและปลื้มใจมากที่ “สระเกษตรสนาน” ได้เกิดขึ้นแล้วตามความปรารถนาของพวกเรา เกิดขึ้นจากพลังความสามัคคีอันดีของพวกเราทุกคน ตลอดทั้งนักเรียนและครูอาจารย์ ราวกับเนรมิตเพราะใช้เวลาเพียง 7 วันเท่านั้น เกินความคาดหมายที่คาดไว้ ท่านจึงเชื่อว่า สระนี้จะเป็นสระอันศักดิ์สิทธิ์ที่จะให้ทั้งความชุ่มฉ่ำเย็นใจกาย อันจะเป็นสิ่งคอยกระตุ้นและเสริมกำลังกายความสามัคคีให้ประสบแต่ความร่มเย็นเป็นสุข มีสุขภาพพลานามัยเข้มแข็ง เกิดความคิดสติปัญญาฉลาดเฉลียวในทางที่เกิดประโยชน์ต่อวงศ์สกุลและประเทศชาติสืบไป ขอให้พวกเราจงช่วยกันรักษาทั้งสระและทั้งความดีที่ร่วมกันแสดงออกในครั้งนี้ไว้ให้คงอยู่ ซึ่งจะเป็นเยี่ยงอย่างอันดีเด่นแก่บรรดาศิษย์แม่โจ้รุ่นหลัง ๆ ตลอดชั่วกาลนาน พวกเราต่างดีอกดีใจไชโยโห่ร้องลั่นสนั่นไหว แล้วเสียงเพลง “แม่..โจ้ ไชโยพวกเรา ใหม่เก่าพวกเราไชโย” จากต้นเสียง คุณแผ่พืช เทพหัสดิน ณ อยุธยา ก็กังวานขึ้นทุกคนเปล่งเสียงร้องรับกันอย่างหนักแน่น พร้อมเพรียง เป็นบรรยากาศที่สดชื่นตื้นตันอย่างยิ่ง หลังจากนั้นพวกเราก็ได้ไปเที่ยวงานฤดูหนาวในเมืองเชียงใหม่ เมื่อกลับมาจากเที่ยวงานฤดูหนาว พวกเราก็ได้เห็นแท่นกระโดดน้ำเกิดขึ้นตามที่อาจารย์ใหญ่ท่านบอกไว้ ในเวลาต่อ ๆ มา พวกเราได้ใช้สระนี้อย่างคุ้มค่ากับที่ได้ลงแรงสร้างขึ้นมา และในภายหลังก็มองเห็นว่า สระนี้เป็นสระศักดิ์สิทธิ์จริง ตามที่ท่านอาจารย์ใหญ่ได้กล่าวไว้ในการลงทัณฑ์ระหว่างนักเรียนด้วยกัน ตามธรรมนูญของแม่โจ้ในข้อจับโยนน้ำก็ดี การบูชายัญก็ดี ตลอดจนพิธีชุบตัวของลูกแม่โจ้ หรือพิธีล้างอาถรรพ์ก็ได้ใช้สระเกษตรสนานนี้ทำพิธีสืบต่อกันตลอดมา โดยมีได้ก่อให้เกิดความแตกร้าว แตกแยกกันแต่ประการใด ผลที่ได้กลับตรงข้าม เป็นความสามัคคีรักใคร่กลมเกลียวกัน สมกับปณิธานที่ท่านอาจารย์ใหญ่ คุณพรช่วงฯ ได้ตั้งไว้ทุกประการ ฯลฯ เรียบเรียงจาก “สระเกษตรสนาน” โดยปราโมทย์ บัวชาติ (รุ่น 2) หน้า 214-219. หนังสือ เกษตร-แม่โจ้ ที่ระลึกเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเกิดครบรอบปีที่ 82 ของอำมาตย์โทพระช่วงเกษตรศิลปะการ (ช่วง โลจายะ) 20 กรกฎาคม 2524. ได้ตรวจสอบและสอบถามจาก คุณประกอบ ผดุงพงษ์ และคุณวิชัย ชื่นวิเชียร (รุ่น 2) สระเกษตรสนาน ขุดเสร็จเมือวันที่ 29 ธันวาคม 2478 นักเรียนแม่โจ้ได้ไปเที่ยวงานฤดูหนาวที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ซึงมีงานระหว่าวันที่ 30 ธันวาคม 2478 ถึงวันที่ 5 มกราคม 2479 สถานีทดลองกสิกรรมแม่โจ้ และโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมแม่โจ้ไปออกร้าน จัดนิทรรศการครั้งแรกที่ “เรือนเพชร” สระเกษตรสนานได้ใช้ในพิธีรับน้องใหม่เป็นครั้งแรก รุ่น 3 เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2479) สงวน จันทร์ทะเล 16 มิถุนายน 2549 สระศักดิ์สิทธิ์เพื่อพิธีกรรมสู่อ้อมอกแม่โจ้ วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2478 อาจารย์ใหญ่ คุณพระช่วงฯ ได้กล่าวแก่นักเรียนแม่โจ้ว่า “สระเกษตรสนาน” ได้เกิดขึ้นจากพลังความสามัคคีของพวกเราทุกคน ท่านเชื่อว่า สระนี้จะเป็นสระอันศักดิ์สิทธิ์ ที่จะเป็นสิ่งคอยกระตุ้น ความสามัคคี ในทางที่เกิดประโยชน์ต่อสถาบันและประเทศชาติสืบไป ขอให้พวกเราช่วยกนรักษาทั้งสระและความดีที่ได้ร่วมกันแสดงออกในครั้งนี้ให้คงอยู่เป็นเยี่ยงอย่างอันดีแก่บรรดาศิษย์แม่โจ้รุ่นหลัง ๆ ตลอดไปชั่วกาลนาน ลูกแม่โจ้ได้ใช้สระนี้ประกอบพิธีกรรมต้อนรับนักเรียนใหม่ที่จะมาเป็นลูกแม่โจ้ เป็นครั้งแรก เมื่อเช้าตรู่วันที่ 7 มิถุนายน 2479 (รุ่น 3) สระนี้เป็นสระศักดิ์สิทธิ์จริง ตามที่ท่านอาจารย์ใหญ่ได้กล่าวไว้ สระนี้ใช้ในการลงทัณฑ์ระหว่างนักเรียนด้วยกัน ตามธรรมนูญของแม่โจ้ ในข้อจับโยนน้ำก็ดี การบูชายัญก็ดี ตลอดจนพิธีชุบตัวของลูกแม่โจ้ที่เข้ามาใหม่ หรือพิธีล้างอาถรรพ์ก็ได้ใช้สระเกษตรสนานนี้ทำพิธีสืบต่อกันตลอดมา โดยมีได้ก่อให้เกิดความแตกร้าว แตกแยกกันแต่ประการใด ผลที่ได้กลับตรงข้าม เป็นความสามัคคีรักใคร่กลมเกลียวกัน สมกับปณิธานที่ท่านอาจารย์ใหญ่ คุณพรช่วงฯ ได้ตั้งไว้ทุกประการ ฯลฯ บริเวณโดยรอบสระเกษตรสนานนี้จึงเป็นที่สงบเงียบที่ ลูกแม่โจ้ทุกคน ต้องให้ความเคารพว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ต้องได้รับการดูแลรักษาไว้เพื่อประกอบพิธีของลูกแม่โจ้ ตามบทบัญญัติแม่โจ้ การใช้สถานที่และสระนี้ต้องกระทำด้วยความจริงใจยึดมั่นตามประเพณีที่สืบทอดมา การชำระล้างมลทินต้องกระทำโดยถูกต้องยุติธรรมตามแบบแผนที่บทบัญญัติได้ตราไว้ เรียบเรียงจาก “สระเกษตรสนาน” โดยปราโมทย์ บัวชาติ (รุ่น 2) หน้า 214-219. หนังสือ เกษตร-แม่โจ้ ที่ระลึกเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเกิดครบรอบปีที่ 82 ของอำมาตย์โทพระช่วงเกษตรศิลปะการ (ช่วง โลจายะ) 20 กรกฎาคม 2524.

Read More