พิพิธภัณฑ์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เชียงใหม่

  • แม่โจ้ 2477.

พี่ละอัย เพศยนิกร ผู้ชนะการโหวตตั้งชื่อ สระเกษตรสนาน เมื่อ พ.ศ. 2478

นักเรียนแม่โจ้ ปี 1 และปี 2 ได้ร่วมมือร่วมใจกันขุดสระน้ำ ตั้งแต่วันที่ 22-28 ธันวาคม 2478 โรงเรียนของเราก็มีสระน้ำที่สวยงามราวกับเนรมิต เพราะทุกบ้านขุดกันเสร็จบริบูรณ์ตั้งแต่กลางดึกวันที่ 28 นี่แหละครับ “พลังของลูกแม่โจ้” ท่านอาจารย์ใหญ่ (พระช่วงเกษตรศิลปการ) ได้สั่งให้ระบายน้ำเข้าสระตั้งแต่เช้าวันนั้น พอตกบ่ายราว ๆ 15.00 นาฬิกาเศษ ของวันที่ 29 ธันวาคม 2478 น้ำก็เต็มสระแล้วพิธีเปิดฉลองสระก็เริ่มขึ้น โดยนักเรียนทั้งหมดยื่นเรียงรายรอบปากสระ จำนวนไม่น้อยที่แต่งตัวมากันอย่างโก้เหมือนจะเข้าเวียง ครูอาจารย์มาพร้อมหน้ากัน ท่านอาจารย์ใหญ่เป็นประธานท่านถามหาชื่อสระว่าใครจะเสนอใช้ชื่อว่าอย่างไร ใครคิดเตรียมมาแล้วก็ให้เสนอมาได้ มีผู้เสนอขึ้นมาหลายชื่อ เช่น รวมใจแม่โจ้, ศิลป์สำอาง, กสิกรเนรมิตร, เกษตรสนาน, คุณพระเนรมิต, อนุสรณ์ ๗๙, พิรุณประทาน เป็นต้น ที่ประชุมนักเรียนต่างยกมือยอมรับชื่อสระเกษตรสนานของคุณละอัย เพศยนิกร นักเรียนหลักสูตร ป.ป.ก. (ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่น 2) จากพระนครศรีอยุธยา เป็นผู้เสนอให้เป็นชื่อของสระโดยนับคะแนนจำนวนได้มากกว่าชื่ออื่น ๆ ดังนั้น สระที่เราร่วมแรงร่วมใจกันขุดให้ได้มาด้วยความเหน็ดเหนื่อยและสนุกสนานเพียงเวลา 7 วันนี้จึงชื่อว่า “สระเกษตรสนาน” ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2478 เป็นต้นมา ท่านอาจารย์ใหญ่ได้มอบสมุดบันทึกประจำวันปกแข็งพร้อมปากกาหมึกซึมซีแมน ให้เป็นรางวัลที่ระลึกแก่คุณละอัย ด้วยความเมตตาอารี ซึ่งคุณละอัยบอกว่าดีใจที่สุด และจะเก็บรักษาไว้เป็นที่ระลึกให้นานที่สุด (ต่อมาเมื่อคุณละอัยรับราชการเป็นสหกรณ์จังหวัดน่าน ราว ๆ พ.ศ. 2493 คุณละอัย ยังนำรางวัลนี้ออกมาอวดเพื่อนเสมอ) ท่านอาจารย์ใหญ่ได้กล่าวแก่พวกเราในพิธีนี้ความว่า ท่านดีใจและปลื้มใจมากที่สระเกษตรสนาน ได้เกิดขึ้นแล้วตามความปรารถนาของพวกเรา โดยเกิดขึ้นจากพลังความสามัคคีอันดี ของพวกเราทุกคนตลอดทั้งนักเรียนและครูอาจารย์ ราวกับเนรมิตเพราะใช้เวลาเพียง 7 วันเท่านั้นเกินความคาดหมายที่คาดไว้ ท่านจึงเชื่อว่าสระนี้เป็นสระอันศักดิ์สิทธิ์ที่จะให้ทั้งความชุ่มฉ่ำเย็นใจเย็นกาย อันจะเป็นสิ่งคอยกระตุ้นและเสริมกำลังกายกำลังความสามัคคีให้ประสบแต่ความร่มเย็นผาสุก มีสุขภาพพลานามัยเข้มแข็ง เกิดความคิดสติปัญญาฉลาดเฉลียวในทางที่เกิดประโยชน์ต่อวงศ์สกุลและประเทศชาติสืบไป เอกสารอ้างอิง: เกษตรแม่โจ้, 2524. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์รุ่งเรืองสาส์นการพิมพ์. รวบรวมเรียบเรียง: อนุสรณ์ วิจารณ์ปรีชา ศิษย์เก่าแม่โจ้’53

Read More


เรื่องจริงเรื่องโจ๊ก ในยุคสมัยแม่โจ้ รุ่น 16

ในสมัยก่อน สถานที่ราชการหยุดงานในวันอาทิตย์ จะมีนักเรียนสาว ๆ จากในเมืองเชียงใหม่พากันขี่รถจักรยาน มาเที่ยวแม่โจ้ในวันอาทิตย์ตอนบ่าย พอมาถึงก็ลงจากรถพากันไปถามกลุ่มคนที่ขุดดินอยู่แถวบริเวณถนนบางเขน ซึ่งโรงเรียนเกษตรกรรมกรรมแม่โจ้ ปักแนวให้นักเรียนที่ขาดการลงงานได้ชดใช้งานในระหว่างปี เพราะต้องลงงานทุกวันเช้าและบ่าย ไม่มียกเว้นในทุกกรณี คิดเป็น 4 คนต่อ 400 ตารางเมตร พวกเธอนักเรียนเหล่านั้นคงรู้สึกแปลกใจที่เหลียวมองไปทางไหน ก็เห็นแต่คนงานกำลังขุดดินตัดฟันต้นไม้-กิ่งไม้ บ้างก็ใช้เกวียนเอาคนลาก บ้างก็ใช้รถเนอสเซอรี่มาลากเข็นบรรทุกเอากิ่งไม้ นำมากองสุมกันไว้สูงท่วมหัว พวกเธอเข้ามาถามด้วยความแปลกใจ “อ้ายเจ้า นักเรียนแม่โจ้ มีที่ไหนกันหมด เห็นมีแต่คนงาน” เพราะภาพที่พวกเธอเห็นมีแต่คนนุ่งกางเกงขาก๊วย ใส่เสื้อหม้อฮ่อมสีกระดำกระด่างไปด้วยคราบเหงื่อ ไม่ใส่รองเท้า มีผ้าขาวม้ามัดเอวไว้เช็ดเหงื่อ สวมหมวกด้วยใบตาลเก่า ๆ เพราะใช้กันแดดกันฝนมานาน หน้าตามอมแมม เหงื่อไหลไคลย้อย พวกเราคนหนึ่งตอบไปอย่างเขิน ๆ ว่า “วันนี้เป็นวันอาทิตย์ พวกนักเรียนแม่โจ้ เขาเข้าไปแอ่วในเวียงกันหมดครับ!” ทำให้พวกเธอรู้สึกผิดหวัง ที่อุตส่าห์ปั่นรถจักรยานมาจากในตัวเมือง ผ่านถนนที่เป็นหลุมเป็นบ่อเป็นระยะทางไกลตั้ง ๑๘ กิโลเมตร ได้เห็นแค่พวกขุดดิน เห็นแต่ห้องเรียนที่มุงหลังคาด้วยใบตองตึงมีแผงไม้สานกั้นเป็นฝาห้อง ส่วนโต๊ะเรียน ม้านั่งก็นั่งอยู่กับพื้นดิน ตามพื้นมีตะไคร่สีเขียว ๆ มีร่องน้ำเล็ก ๆ รองชายคา พวกเธอรู้สึกผิดหวังมาก ที่จะได้พบเห็นนักเรียนแม่โจ้ ที่แต่งตัวนำสมัยเดินเฉิดฉายกรีดกรายโก้เก๋อย่างที่เคยพบเห็นในตัวเมืองหรือหน้าโรงหนังศรีนครพิงค์ จากคำกล่าวขานกันที่ว่า นักเรียนแม่โจ้ส่วนมากเป็นลูกพ่อเลี้ยงฐานะดีมีเงิน โดยเฉพาะคนภาคใต้เป็นลูกเศรษฐีเจ้าของเหมืองแร่ เจ้าของสวนทุเรียน สวนยางพารา ทั้งที่จริงแล้วนักเรียนแม่โจ้ในสมัยนั้นรู้กันดีว่าเป็นพวก “แต่งตัวเหมือนเทวดา กินอย่างหมู อยู่อย่างควาย” ... นิเวศน์ เชิงปัญญา (ณ ลำปาง วิรัตน์เกษม)... ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่น 16 หมายเหตุ: ภาพประกอบ การแต่งกายของนักเรียนแม่โจ้ รุ่น 15 และ รุ่น 16 เท่ขนาดไหน?

Read More


โรงอาหารแม่โจ้ ปี พ.ศ.2478

บรรยากาศของโรงอาหารโรงเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรม เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2478 หรือ 90 ปีที่แล้ว จากภาพถ่ายและบันทึกของทีมงาน ดร.โรเบิร์ต ลาริมอร์ เพนเดิลตัน นักวิทยาศาสตร์ทางดินชาวต่างประเทศ

Read More


นายร้อยแม่โจ้ เมื่อ 35 ปีที่แล้ว

รำลึกภาพในอดีต นายร้อยแม่โจ้กับอาวุธคู่กาย ปี พ.ศ. 2533 บริเวณด้านข้างหอพักชาย 1 ปัจจุบันคือหอพักนานาชาติหรือหอจีน เดินตรงไปอีกไม่เกิน 10 เมตรจะถึงบันไดขึ้นหอพักชาย 1 แต่ถ้าเลี้ยวขวา (ให้สังเกตหัวป้าย แม่โจ้...) จะเลี้ยวตามถนนดินไปหอพักชาย 2 ปัจจุบันเป็นหอพักชาย 3 เพราะมีหอพัก 5 ชั้นมาคั่นกลางเป็นหอพักชาย 2)

Read More


เวลาเป็นเงินเป็นทอง (นายร้อยแม่โจ้ รุ่น 55)

นายร้อยแม่โจ้ รุ่น 55 อาบน้ำเช้าแข่งกับเวลา เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2533 (เมื่อ 27 ปีที่แล้ว) ทันทีที่อาณัติสัญญาณ (ปรี้ดดดด) ดังขึ้น นายร้อยทุกคนที่อยู่ในชุดเตรียมพร้อมตั้งแต่เมื่อคืน โดยใส่กางเกงบอลนอนรอกันเลยทีเดียว (ส่วนใหญ่จะนอนไม่ค่อยหลับ ถึงหลับก็ไม่นาน เดี๋ยวก็สะดุ้งตื่นขึ้นมาเพื่อรอเวลา) ทั้งผ้าขาวม้า ผ้าขนหนู ขันน้ำ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน สบู่ ยาสระผม เตรียมพร้อมเผ่นแผล็วออกจากที่ตั้ง speed เร็วกว่านรก ไปยังห้องน้ำด้านนอกตัวอาคารหอพัก ตั้งแต่สัญญาณหวีดเริ่มต้นจนถึงนกหวีดครั้งที่ 2 อันเป็นสัญญาณหมดเวลา ใช้เวลาไม่น่าจะเกิน 10 นาที (วันต่อมา เวลาจะลดลงเรื่อย ๆ จนเหลือไม่ถึง 5 นาที) วันแรก ๆ นายร้อยทั้งหมด ประสบการณ์ยังน้อย เปรียบเป็นพระบวชใหม่ก็ยังอ่อนพรรษา วันต่อ ๆ มาเริ่มแก่พรรษาขึ้น แปรงสีฟันที่ถูกบีบใส่แปรงรอ บางคนบีบยาสีฟันใส่ปากเลยก็มี มีจำนวนไม่น้อยไม่เอาสบู่ไปด้วยเพราะรู้แล้วว่ายังไงก็ไม่ทัน ขอแปรงฟันก็เพียงพอและมีบางคนบีบยาสระผมใส่ศรีษะรอกันเลยทีเดียว ทำไมจึงอาบน้ำ แปรงฟัน สระผมไม่ทัน? เป็นเพราะด้วยคนจำนวนมาก และด้วยเวลาที่ถูกบีบให้น้อยลง บางคนวิ่งไปยังไม่ถึงห้องน้ำ สัญญาณนกหวีดก็ดังหมดเวลาเสียแล้ว หลังจากนั้นจะเป็นกิจกรรมวิ่งออกกำลังกายในช่วงเช้า วันไหนที่มีฝนตกลงมา ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์จะเห็นภาพนายร้อยบางคนมีฟองของยาสระผม ฟูฟ่องเต็มศรีษะ แต่ถ้าไม่มีฝนตก จะมีกิจกรรมทั้งวัน นายร้อยนายนั้น จะมีอาการคันศรีษะ หิมะตกตลอดวัน เป็นประสบการณ์ล้ำค่าและเล่าสู่กันฟังตราบจนทุกวันนี้ ท่านใดมีประสบการณ์และเรื่องเล่าที่มหัศจรรย์พันลึกนอกเหนือจากนี้ พูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้ที่ช่องแสดงความเห็นข้างล่างได้เลยครับ

Read More


เจ้าแม่ "แม่โจ้"

เจ้าแม่ “แม่โจ้” ถ่ายภาพเมื่อปี พ.ศ.2535 ณ ศาลเจ้าหลังเดิม เมื่อผมลงเรียนวิชาการถ่ายในงานส่งเสริม สอนโดย รองศาสตราจารย์ ดร.วิทยา ดำรงเกียรติศักดิ์ และเจ้าแม่เป็นสิ่งแรก ๆ ที่ผมอยากถ่ายภาพมากเป็นภาพแรก ๆ ของสถาบันฯ แม่โจ้ ตอนนั้นใช้กล้อง Nikon FM2 เลนส์ 50 m.m. F/1.8 และฟิลเตอร์ไซโคลน ราคา 200 กว่าบาท ด้วยฟิล์มไลด์ Kodak และสแกนเก็บไว้ในช่วงหลัง ก่อนถ่ายภาพได้อธิษฐานกับเจ้าแม่ แม่โจ้ ขอให้ได้ภาพที่สวยงาม และได้ภาพเป็นที่ระลึก อย่าได้ป่วยอย่าได้ไข้หรือเป็นอะไรไป และนี่เป็นผลงานในครั้งนั้นเมื่อ 28 ปีที่แล้ว และได้มาให้สมาชิกทุกท่านได้ชมกัน เพื่อให้ได้เห็นภาพหน้าท่านชัด ๆ

Read More


เรื่องเล่าจากหอพักผดุงศิลป์ เมื่อสมัยปี 2508-2509

รูปทรงหอพักสมัยก่อน ยุครุ่น 20 กว่า ๆ จนถึง 30 กว่า ๆ เป็นอาคารไม้สองชั้น รุ่นพี่เคยเล่าให้ฟังว่ามีความอบอวลด้วยมิตรภาพระหว่างเพื่อนยากจะลืม อดก็อดด้วยกัน อิ่มก็อิ่มด้วยกัน แบ่งกันกินแบ่งกันใช้ ใครที่แปลกแยกก็จะไม่มีเพื่อน พี่ประวิทย์ ตัณฑ์ทวี ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่น 30 เคยเล่าให้ผมฟังว่า หอพักที่พวกเราอยู่มีหน้าตาเหมือนกันทุกหอ จะต่างกันเพียงชื่อของหอพักเท่านั้น แรก ๆ ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนแม่โจ้ จากเพื่อนใหม่นั้นสนิทเป็นเพื่อนเก่าอย่างรวดเร็ว คนที่เคยเห็นแก่ตัวก็มาปรับตัวได้ที่แม่โจ้ อย่างเช่น ไฟจากตะเกียงดับลง ความมืดเข้าครอบคลุม ในท่ามกลางความมืดและเงียบสงัด กลับได้เสียงกรอบแกรบ ๆ นั่นเพื่อนกำลังแอบกินขนมคนเดียว วันต่อก็เจอแก้เผ็ดเจอเพื่อน ๆ แอบค้นตู้และขนมภายในตู้ก็ถูกขโมยไปจนสิ้น บางคนน้ำมันจากตะเกียงที่ใช้อ่านหนังสือ ชอบปฏิเสธเพื่อนเวลาขอยืมน้ำมันแต่ชอบปฏิเสธว่าหมดแล้ว ปรากฏว่าในคืนต่อมาเจ้าของกลับโวยวายเมื่อตะเกียงจุดไม่ติดทั้ง ๆ ที่เขย่าตะเกียงดูก็รู้สึกว่าน้ำมันเต็ม แต่หารู้ไม่ว่าเพื่อนแอบขโมยน้ำมันไปแล้วเยี่ยว (ปัสสาวะ) มาใส่ตะเกียงแทน หรือในยุคนั้นกางเกงยีนส์ ใครมีถือว่าเท่มาก รองเท้าใหม่ ๆ ก็ต้องระวังซักแล้วต้องนั่งเฝ้าให้ดี เผลอเป็นไม่ได้เพื่อนแอบขโมยไปใส่ในเวียง (เพื่อนก็อยากหล่อเหมือนกัน ยืมไปใส่ในเวียงสักวัน จะอะไรกันนักหนา 555) นี่เป็นเสี้ยวหนึ่งของเรื่องเล่าจากพี่ประวิทย์ จากความทรงจำเก่า ๆ ที่ “หอพักผดุงศิลป์” วิทยาลัยเกษตรกรรมเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2508-2509

Read More


เรื่องเล่าเกี่ยวกับผีที่ห้วยโจ้

สายน้ำ สายธาร สายใยลูกแม่โจ้ ที่กลางวันให้ความชุ่มชื่น ฉ่ำเย็น ให้กับแมกไม้นานาพันธุ์ และให้การเกษตรแก่ผู้คนในอดีต และเป็นที่ชำระล้างร่างกายของผู้คนโดยเฉพาะลูกแม่โจ้ มานานเกือบศตวรรษ ช่วงกลางคืน นั้น เคร่งขรึม น่าเกรงขาม ศาสตราจารย์ ดร.ระพี สาคริก ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่น 7 เคยเล่าให้ผมฟัง เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2558 ว่า สมัยที่ท่านเรียนที่แม่โจ้ ยามเย็นถึงค่ำท่านและเพื่อนๆ ชอบมานั่งริมห้วยโจ้ เพราะอากาศเย็นสบาย ฟังเสียงน้ำไหลแล้วสบายใจ แต่เพื่อนของท่านบางคนปากเปราะ ชอบพูดคุยถึงเรื่องผีทั้ง ๆ ที่ท่านพยายามห้ามแล้วเพราะจะทำให้เสียบรรยากาศ และแล้วหลังจากเพื่อนกำลังเอ่ยถึงเรื่องผีขึ้นมา ในยามค่ำคืนเสียงหรีดหริ่งเรไรที่กำลังร้องระงมปรากฎว่า สรรพสัตว์ดังกล่าวหยุดร้องอย่างกะทันหันและมีเสียงคนคล้ายผู้ชาย ด้วยน้ำเสียงหัวเราะเยือกเย็นสวนขึ้นมา เท่านั้นเอง ทุกคนวิ่งกันอย่างไม่คิดชีวิต จากนั้น เป็นต้นมา ไม่มีใครกล้าไปนั่งเล่นนอนเล่นที่ห้วยโจ้ ในช่วงค่ำคืนอีกเลย จะมีเพียงกลางวันในวันหยุดเท่านั้นที่กล้าไปนั่ง ๆ นอน ๆ กัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนิต มะลิสุวรรณ ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่น 20 เคยเล่าให้ผมฟังว่า ที่ห้วยโจ้บริเวณต้นไม้ใหญ่ใกล้หอพัก 8 ในปัจจุบัน เคยเป็นที่อาบน้ำของพวกเรา โดยเฉพาะยามค่ำ แต่มาในวันหนึ่งมีเสียงอื้ออึง จนไม่มีใครกล้าไปอาบน้ำช่วงค่ำอีกเลย เรื่องในวันนั้นขณะที่เพื่อนบางคนจะไปอาบน้ำเหมือนเช่นเคย ขณะที่เมื่อเดินริมห้วยโจ้ ที่เคยอาบเล่นเป็นประจำ ปรากฎว่า มีเสียงซู่จากกลางห้วยโจ้ และมีร่าง ๆ หนึ่ง เนื้อตัวสีขาวซีดโผล่พ้นน้ำขึ้นมา เพื่อนคนนั้นถึงกับร้องเสียงหลง และพูดจาไม่ได้ใจความ พูดแต่ว่าเจอผี พูดแต่ประโยคเดิม ๆ อยู่หลายวัน แต่ท่านอาจารย์ธนิต กล่าวว่า ท่านไม่เคยเห็น แต่ก็ไม่กล้าเหมือนกัน และมีอีกหลายท่านเล่าเรื่องเกี่ยวกับผีกับห้วยโจ้ แต่ผมก็ลืม ๆ รายละเอียด เสียแล้วทั้งผีจริง และผีปลอม หากท่านใด มีประสบการณ์ในเรื่องดังกล่าว จะเป็นเรื่องเล่า หรือเคยประสบด้วยตัวเอง ขอเรียนเชิญเลยครับ! หมายเหตุ: คืนนี้ผมเดินลัดป่าบุญศรี วังซ้าย ด้วยไฟฉายดวงเล็กดวงเดียว และเมื่อถึงสะพานเบอร์ลิน หรือปัจจุบันถูกเปลี่ยนชื่อเป็นลูกแม่โจ้กำเนิด เลยบันทึกภาพไว้ แต่ก็ไม่เจอผีนะครับ!

Read More


หอระฆังแม่โจ้ สัญลักษณ์แห่งกาลเวลา ภาพหอระฆัง ถ่ายมาเมื่อปี พ.ศ.2479

มีผู้ให้ความหมายไว้อย่างน่าฟังว่าระฆังมีรูปทรงกลม หมายถึงไม่มีจุดเริ่มต้นและไม่มีจุดสิ้นสุด ระฆังเป็นสัญลักษณ์แห่งกาลเวลา ที่อยู่คู่แม่โจ้มาอย่างยาวนานมากกว่า 86 ปี หอระฆังแม่โจ้ สร้างขึ้นเพื่อกำหนดเวลาชีวิตประจำวัน ของนักเรียนแม่โจ้ อยู่คู่แม่โจ้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2477 ความสำคัญ: การปลุกให้ตื่นนอนเวลา 05.00 น. เพื่อลงงานภาคปฏิบัติและรับประทานอาหารเช้า เวลา 06.00-08.00 น. เข้าชั้นเรียนเวลา 09.00-12.00 น. รับประทานอาหารกลางวัน เวลา 12.00-13.00 น. และถูกเคาะอีกครั้ง ในเวลา 13.00-16.00 น. และสุดท้ายย่ำระฆังเพื่อสวดมนต์ไหว้พระ ก่อนเข้านอนเวลา 21.00 น. และถูกตีบอกเวลาทุกชั่วโมง ต่อมาภายหลังการรัวระฆังกลางดึกหลังเที่ยงคืน คืนใดเกิดขึ้น ย่อมบ่งบอกถึงกิจกรรมประเพณีการรับลูกแม่โจ้ใหม่ไว้ในอ้อมอกอีกครั้งหนึ่ง หอระฆังดั้งเดิม ปี พ.ศ. 2477 สร้างด้วยไม้เนื้อแข็งทั้งหมด และใช้งานมายาวนาน จนเริ่มหมดอายุตามสภาพกาลเวลา มีการบูรณะให้สามารถใช้งานได้มาโดยตลอด ผู้ให้ข้อมูล: ศาสตราจารย์ ดร. ระพี สาคริก ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่น 7 สกุล หาภา ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่น 19 ชาคริต สุริยะเจริญ ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่น 19 รองศาสตราจารย์ ดร. วิทยา ดำรงเกียรติศักดิ์ ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่น 32 ภาพประกอบกระทู้: หอระฆัง พ.ศ. 2479 (84 ปี ผ่านมาแล้ว) เอกสารอ้างอิง: สมุดแม่โจ้ พ.ศ. 2479

Read More